วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

ใคร..? มีสิทธิรับมรดก

ปัญหาที่ถามมาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก โดยประเด็นของปัญหาคือบุตรที่สมรสแล้ว หากบุตรนั้นเสียชีวิตและมีทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสด้วย บิดา-มารดาของบุตรที่ตายไปจะมีสิทธิรับมรดกของบุตรหรือไม่

ก่อนอื่นต้องดูกฎหมายครอบครัวก่อนเพราะขณะที่เสียชีวิต ผู้ตายมีคู่สมรสถูกต้องตามกฎหมายและบุตรที่เกิดจากสมรสดังกล่าว ตามกฎหมายครอบครัวนั้นเมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ไม่ว่าด้วยการตาย การหย่า หรือศาลพิพากษา ถ้ามีสินสมรส สินสมรสต้องนำมาแบ่งคนละครึ่งระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่

สินสมรสแบ่งได้เป็น 3 ชนิดคือ
1.ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ทรัพย์สินทั้งหมดที่สามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายทำมาหาได้ในระหว่างสมรสทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายใดได้มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้นั้นหรือไม่ ทั้งนี้เพราะการสมรสเปรียบเสมือนการเข้าเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ จึงตกเป็นของเจ้าของร่วมกันทั้งสามีและภริยา
2.ทรัพย์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
3.ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

ในกรณีนี้ทรัพย์สินที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบ้าน, ที่ดิน, รถ2 คัน, ตู้เสื้อผ้า, โทรทัศน์, ตู้เย็น ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและของใช้ภายในบ้าน เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ถือเป็นสินสมรส จึงตกเป็นของผู้ตายและภริยาที่ยังมีชีวิตอยู่คนละครึ่งก่อน

ในส่วนของผู้ตาย (คือครึ่งที่ตกได้แก่ตนหลังจากแบ่งส่วนของภริยาไปแล้ว) จะกลายเป็นมรดกของผู้ตาย หากผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมระบุยกให้ใครโดยเฉพาะเจาะจงแล้ว มรดกของผู้ตายจะตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดก จะเรียงลำดับตามความสำคัญดังนี้
1.ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูก, หลาน, เหลน, ลื้อ
2.บิดามารดา
3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน คือ พี่น้องพ่อเดียวกันคนละแม่ หรือพี่น้องแม่เดียวกันคนละพ่อ
5.ปู่, ย่า, ตา, ยาย
6.ลุง, ป้า, น้า, อา

หากทายาทลำดับแรกยังมีชีวิตอยู่ จะตัดสิทธิการรับมรดกของทายาทลำดับหลัง ยกเว้นทายาทลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 จะไม่ตัดกันเอง กล่าวคือ ถ้าผู้ตายมีทายาทลำดับที่ 1 และทายาทลำดับที่ 2 ทายาททั้งสองลำดับต่างมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้เท่า ๆ กัน เพราะกฎหมายมรดกได้บัญญัติไว้ว่า หากบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนทายาทชั้นบุตร นอกจาก นี้ถ้ามีคู่สมรสและมีทายาทลำดับที่ 1 คู่สมรสจะมีสิทธิ์รับมรดกเสมือนทายาทชั้นบุตรเช่นเดียวกัน

สำหรับกรณีที่ผู้ตายมีบุตร บิดา มารดา และคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ บุคคลเหล่านี้จะมีส่วนแบ่งในมรดกส่วนของผู้ตาย (คือครึ่งหนึ่งหลังจากแบ่งให้ภริยาตามกฎหมายครอบครัวแล้ว) จะสังเกตได้ว่า คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ของผู้ตายจะได้ส่วนแบ่งมากที่สุด คือครึ่งหนึ่งตามกฎหมายครอบครัวและแบ่งส่วนเท่า ๆ กันกับทายาทของผู้ตายในส่วนครึ่งที่เป็นมรดก ในกรณีนี้จึงตอบได้ว่าบิดามารดามีสิทธิได้รับมรดกด้วย ส่วนจะแบ่งกันอย่างไรต้องมีผู้จัดการมรดกเข้ามาดำเนินการให้ ซึ่งอาจจะตกลงรับกันเป็นตัวทรัพย์ หรือทอนมาเป็นเงิน หรือขายนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน หรือสละสิทธิก็แล้วแต่

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553

ลูกจ้างรับงานไปทำที่บ้านเป็นการจ้างแรงงาน หรือ จ้างทำของ

จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป คนเราต้องทำงานแข่งกับเวลา และใช้เวลาในการเดินทางหลายชั่วโมง นายจ้างต้องจัดรถรับส่งลูกจ้างมาทำงาน และส่งกลับ การมอบงานกลับไปทำที่บ้านจึงเป็นทางออกที่ดีอย่างหนึ่ง แต่การมอบงานให้ลูกจ้างกลับไปทำที่บ้านก็มีหลายสิ่งที่ต้องใคร่ครวญหลายประการ


แต่ทั้งนี้งานที่นายจ้างจ้างเป็นงานในลักษณะ ที่ใช้คอมพิวเตอร์และติดต่อสื่อสารในโลกของเทคโนโลยี เป็นการขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทและเช็คข้อมูลของลูกค้าผ่านทาง Internet งานเหล่านี้นายจ้างมอบหมายงานให้ลูกจ้างกลับมาทำที่บ้าน งานในลักษณะเช่นนี้ เป็นงานที่รับไปทำที่บ้านแล้ว เป็นสัญญาการจ้างแรงงาน หรือ สัญญาจ้างทำของ
สัญญาจ้างแรงงานโดยทั่วไปนั้น ไม่มีกฎหมายใดกำหนดไว้ชัดเจนว่า ต้องทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 575 มีความว่า "อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า "ลูกจ้าง" ตกลงจะทำงานให้อีกคนหนึ่งเรียกว่า "นายจ้าง" และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้"
สัญญาจ้างทำของ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้าง เพื่อผลสำเร็จแห่งการทำงานนั้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สัญญาจ้างงานแรงงานไปทำที่บ้าน นายจ้างและลูกจ้างต้องทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ มีความอย่างเดียวกันสองฉบับต่างฝ่ายต่างถือไว้คนละฉบับ พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจสอบได้ มีข้อความอย่างน้อยคือ
(1) วันและสถานที่ที่ทำสัญญาจ้าง
(2) ชื่อตัว ชื่อสกุล อายุ และที่อยู่ของนายจ้างและลูกจ้าง นายจ้างอาจเป็นนิติบุคคลก็ได้
(3) ที่ตั้งสถานประกอบกิจการของนายจ้าง และสถานที่ทำงานของลูกจ้าง
(4) ประเภท ลักษณะ และสภาพของงานที่ส่งมอบให้แก่ลูกจ้าง
(5) วันและสถานที่ที่นายจ้างส่งมอบงานให้แก่ลูกจ้าง
(6) อัตราค่าจ้าง และการหักค่าจ้าง
(7) วันและสถานที่ที่นายจ้างจ่ายค่าจ้าง
(8) วันและสถานที่ที่นายจ้างรับมอบงานของลูกจ้าง

จากงานที่นายจ้างมอบงานให้ลูกจ้างกลับไปทำที่บ้านตามข้อความข้างต้น มีลักษณะคล้ายกับสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ความว่า "สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้าง เพื่อผลสำเร็จแห่งการทำงานนั้น" สาระสำคัญของการจ้างทำของ ได้แก่
(1) ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ตามความสำเร็จของงานที่ตกลงกันจะแบ่งเป็นงวด ๆ ก็ได้ มาตรา 602
(2) ผู้รับจ้างไม่ต้องทำตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง แต่ผู้ว่าจ้างอาจตรวจตราการงานนั้นได้ มาตรา 592
(3) ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องใช้ในการทำงาน และอาจรวมถึงวัตถุดิบด้วย มาตรา 588
(4) ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานหรือค่าชดเชย มาตรา 118 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
(5) ผู้ว่าจ้างไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายแรงงาน เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายเงินทดแทน เป็นต้น
(6) ผู้ว่าจ้างไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายแรงงาน เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายเงินทดแทน เป็นต้น


อย่างไรก็ตามไม่ว่านายจ้างจะจ้างงานลูกจ้าง ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือ สัญญาจ้างทำของ ก็ตาม นายจ้างต้องมีความรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541




























































































































-+